หลังจากที่ได้แนะนำขั้นตอนการเพาะเมล็ดทั้ง 2 แบบ ไปแล้ว ทั้งแบบเมล็ดขนาดเล็ก และเมล็ดขนาดกลาง ในบทความนี้ก็จะมาต่อกับการเพาะเมล็ดในแบบที่เหลือต่อไป นั่นคือ
3. เมล็ดขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ เมล็ดที่มีลักษณะกลมและเมล็ดที่มีลักษณะแบน
– เมล็ดที่มีลักษณะกลม เริ่มโดยการวางเมล็ดลงในวัสดุเพาะและเว้ยระยะห่างเท่าๆ กัน ใช้นิ้วมือที่แห้งสนิทกดเมล็ดลงในวัสดุเพาะเบาๆ เพียงครั้งเดียว และอย่าให้ลึกนัก นำภาชนะเพาะลงไปวางในถาดหรือจานที่บรรจุน้ำ ปล่อยให้ดูดน้ำจนชุ่มประมาณ 10 นาทีขึ้นไป เมื่อชุ่มชื้นทั่วถึงดีแล้ว ให้โปรยทรายหยาบลงไปให้ทั่วโดยให้มีขนาดความหนาพอๆ กับเมล็ด จากนั้นจึงไปวางในถาดหรือจานอีกใบหนึ่ง
– เมล็ดที่มีลักษณะแบน ใช้แหนบหยิบวางทีละเมล็ดและกดลงไปในวัสดุเพาะนำภาชนะเพาะไปวางในถาดหรือจานที่บรรจุน้ำ ปล่อยให้ดูดน้ำจนชุ่ม เมื่อชุ่มดีแล้วให้โปรยทรายหยาบให้ทั่ว โดยให้มากกว่าการเพาะเมล็ดชนิดอื่นๆ เล็กน้อย คือให้มีความหนาประมาณครึ่งเซนติเมตร หรืออาจจะประมาณความหนาของทรายโดยดูจากขนาดของเมล็ดก็ได้
4. เมล็ดผสมกันหลายขนาด เมล็ดของแคคตัสที่คละกันขนาดของเมล็ดก็มีความแตกต่างกันออกไป สำหรับเมล็ดที่มีขนาดใหญ่หรือเมล็ดชนิดแบบนั้น อาจจะใช้วิธีกดลงไปในดินได้ สำหรับเมล็ดขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถใช้วิธีนั้นได้ วิธีที่ดีที่สุด คือ ใช้วัสดุที่มีลักษณะแข็งและเป็นมัน กดเมล็ดทุกเมล็ดที่หว่านในภาชนะแล้วลงไป วัสดุที่มีผิวมันจะไม่ทำให้เมล็ดตามติดขึ้นมา เมื่อกดเมล็ดลงในวัสดุเพาะแล้วจึงโปรยทรายหยาบลงไปบางๆ พอที่เมล็ดเล็กๆ จะมีที่แทงต้นกล้าขึ้นมาได้ จากนั้นนำภาชนะเพาะไปวางบนถาดหรือจานที่บรรจุน้ำเพื่อให้สามารถดูดน้ำได้ เมื่อดูว่าภาชนะเพาะเปียกชุ่มดีแล้วจึงนำไปวางในที่ที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับระยะเวลาในการงอกของแคคตัสนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการเพาะด้วย เมล็ดบางชนิดจะงอกภายใน 24 ชั่วโมง บางชนิดใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ในขณะที่บางชนิดจะใช้เวลานานกว่านั้น อย่างไรก็ตามควรให้การดูแลระมัดระวังมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก นั่นคือ ให้วางภาชนะเพาะในถาดหรือจานที่เติมน้ำไว้เพียงเล็กน้อย ไม่มากถึงขนาดเห็นระดับน้ำ ควรหมั้นตรวจตราดูความชื้นวันละ 1-2 ครั้ง อย่าปล่อยให้ก้นถาดหรือก้นจานแห้งผากเป็นเวลานานๆ สำหรับวันที่อากาศร้อนอาจะตรวจดูให้บ่อยขึ้น แต่อย่าเติมน้ำ เพราะในกระบวนการงอกของเมล็ดนั้นต้องการเพียงความชื้นเท่านั้น ถ้าปริมาณน้ำมากเกินไปเมล็ดอาจจะเสียหายได้ ควรดูให้แน่ใจว่าถาดหรือจานที่รองภาชนะเพาะนั้นอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่งโดยปล่อยให้อีกด้านหนึ่งแห้ง ถ้าก้นถาดพอชื้นๆ สำลีในภาชนะเพาะจะดูดความชื้นไปในปริมาณที่พอกับความต้องการของเมล็ด ถ้าพบว่าภาชนะเพาะไมมีการดูดซับน้ำอย่างที่ควรจะเป็นโดยที่วัสดุเพาะแห้งและไม่มีความชื้น ให้ยกกระถางขึ้นจากถาดหรือจานแก้วแล้ววางลงในระดับน้ำที่สูงขึ้นกว่าเดิม รอจนเห็นผิววัสดุเพาะบางส่วนเริ่มเปียก จึงนำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ชุ่มน่้ำจนมากเกินไป น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำที่มีความอุ่นเล็กน้อย นอกจากนี้ควรมีที่กำบังมากสักหน่อย ต่อเมื่อต้นอ่อนแทงขึ้นมาแล้วจึงให้มีความสว่างมากขึ้น
ต้นอ่อนของแคคตัสที่งอกขึ้นมาใหม่ๆ นั้นจะมีลักษณะเป็นวุ้นหยดเล็กๆ ที่มีความเปราะบางมาก รากที่แตกออกมาครั้งแรกก็มีขนาดเท่าเส้นขนเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ที่พ่นน้ำ เพราะละอองน้ำจะชะมันจนหลุดออกไป และจะทำให้รากเล็กๆ หลุดออกไปด้วย แต่หลังจากนั้น 3 เดือนแรกผ่านไปแล้ว การให้น้ำก็จะง่ายขึ้นโดยสามารถพ่นน้ำจากด้านบนได้ในวันที่มีอากาศอบอุ่น และดูแลใต้ภาชนะเพาะให้ชื้นไว้ในช่วงฤดูร้อน อาจจะนำต้นอ่อนออกจากร่มเงาได้บ้างประมาณ 1-2 ชั่วโมงในเวลาเช้า
เมื่อต้นอ่อนมีอายุได้ 5 เดือน ควรหยุดให้น้ำที่ก้นภาชนะเพาะ ให้นำภาชนะเพาะไปวางบนแปลงยกระดับ โดยวางแยกให้ห่างกัน และควรแยกชนิดที่โตช้า ออกจากต้นที่โตเร็วกว่า เพื่อให้สะดวกต่อการรดน้ำ สภาพของต้นอ่อนสามารถพิจารณาได้จากสี และการเจริญเติบโตทั่วๆ ไป นั่นคือ ถ้าไม่มีการยืดตัวอย่างผิดปกติและสีไม่ชัด แสดงว่าได้ร่มเงาอย่างถูกต้อง ถ้าพบว่ามีหนามเล็กๆ งอกออกมาเป็นปกติ ก็แสดงให้เห็นว่าต้นกำลังเจริญเติบโตได้ดี
นอกจากนี้ควรเก็บเปลือกหุ้มเมล็ดที่ตกอยู่รอบๆ ต้นอ่อนทิ้งไปด้วย เพาะมันอาจจะรวมกันเป็นก้อนๆ ทำให้เกิดการเน่าผุได้ โดยเฉพาะภาชนะที่มีเมล็ดหลายขนาด ถ้าต้นอ่อนเจริญเติบโตแข็งแรงดีแล้ว ให้เป่าเปลือกหุ้มเมล็ดทิ้งหรือใช้แหนบดึงออกก็ได้ แต่ถ้าเป็นเปลือกหุ้มที่ยังติดอยู่กับต้นอ่อนก็ไม่จำเป็นต้องดึงออกจากต้น
ถ้่าพบว่าต้นอ่อนเป็นโรคเน่าคอดิน (Damping-Off) คือมีอาการโคนต้นซ้ำเน่าเละ ให้ใช้แหนบดึงต้นออกมาเสีย หรือถ้าเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากแมลงควรกำจัดด้วยยาฆ่าแมลงชนิดสัมผัสตาย ไม่ควรใช้ประเภทดูดซึม เพราะจะส่งผลเสียต่อต้นเมื่อดูดน้ำและธาตุอาหารเข้าไป ควรเลือกใช้ยาฆ่าแมลงที่เหมาะสมกับชนิดและอายุของต้นแคคตัสด้วย
สำหรับการให้ร่มเงาแก่ต้นออ่นนั้น ถ้าจะดูว่าให้อย่างถูกต้องหรือไม่ สังเกตได้จากสีของมัน ต้นอ่อนของแคคตัสตามปกติมักจะมีตั้งแต่สีเขียวอ่อนจนถึงสีออกชมพู แต่ถ้าต้นอ่อนมีสีแดง หรือบรอนซ์จัด แสดงว่าได้รับแสงสว่างมากจนเกินไป ควรจัดร่มเงาให้มากขึ้น แต่ถ้าต้นอ่อนมีสีเขียวหรือสีเขียวออกขาว แสดงว่ามีร่มเงามากเกินไป ควรให้ร่มเงาให้ถูกต้อง สีของต้นอ่อนก็จะกลับคืนสู่ปกติตามธรรมชาติในเวลาไม่นาน
ส่วนการเคลื่อนย้ายต้นอ่อนนั่นควรจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง ภาชนพที่รองรับต้นอ่อนควรเป็นถาดโลหะหรือพลาสติกที่มีความลึกประมาณ 2-3 นิ้ว และมีรูระบายน้ำที่ดี ก่อนย้ายควรจะรดน้ำล่วงหน้าประมาณ 1-2 วัน เพื่อที่วัสดุเพาะจะได้ไม่แห้งหรือเปียกจนเกินไป เพราะถ้าวัสดุเพาะแห้งเกินไปอาจจะทำให้รากเสียหายได้ แต่ถ้าเปียกจนเกินไปก็จะทำให้การย้ายได้ลำบาก